top of page
ค้นหา

7 วิธีการเพิ่มช่องทางรายได้ของธุรกิจร้านอาหาร


ใครว่าโลเคชั่นหรือทำเลที่ตั้งร้านอาหาร คือหัวใจสำคัญของการเพิ่มรายได้ให้กับร้าน ในอดีตนั้นอาจจะใช่ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ และช่องทางการทำการตลาดที่หลากหลาย ทำให้โอกาสในการเพิ่มรายได้ของร้านอาหารนั้นมีมากมายหลายช่องทางเต็มไปหมด เรามาดู 7 ช่องทางหลักๆ ที่สามารถช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดกัน


1. ใช้ช่องทางผ่านตัวกลางส่งอาหารเดลิเวอรี่

ในยุคที่ชีวิตเร่งรีบ รถติด ที่จอดรถหายาก Food Delivery เหมือนอัศวินขี่ม้าขาวของคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินธุรกิจ Food Delivery ปี 2562 ในประเทศไทยว่าน่าจะเติบโตต่อเนื่อง 14% ร้านอาหารที่ไม่ได้อยู่ในแอปพลิเคชันของตัวกลางส่งอาหารเดลิเวอรี่ ถือว่าพลาดโอกาสในการเพิ่มรายได้เป็นอย่างมาก แอปพลิเคชันเจ้าดังในประเทศไทยได้แก่


LINE MAN

จำนวนผู้ใช้งาน 1.5 ล้านคนต่อเดือน ไม่มีหักค่าคอมมิชชั่น ส่วนใหญ่ 80% เป็นร้านสตรีทฟู้ด และเป็น Partner กับ Wongnai


Grab Food

ปี 2019 ใน 10 เดือนที่ผ่านมา มีการเรียกใช้งานกว่า 120 ล้านครั้ง หักค่าคอมมิชชั่น 20-30% จุดเด่นคือ มีโปรโมชั่นหลากหลาย


GET Food

จำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 500,000 คน หักค่าคอมมิชชั่น 20-30% ค่าส่งราคาถูก แต่ไม่สามารถส่งข้ามเขตได้


Foodpanda

หักค่าคอมมิชชั่น 20-30% ค่าอาหารยังไม่รวมภาษี จุดเด่นคือมีทั้งในกทม. และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด


2. อาหารกล่องสำหรับลูกค้าเอกชน และรัฐบาล

หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน มักจะมีการประชุม การฝึกอบรม งานสัมมนาหรือ งานจัดเลี้ยงอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นช่องทางที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับร้านอาหารมากทีเดียว เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อต่อครั้งนั้นจะมีประมาณที่ค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าร่วมงาน หรือตามจำนวนพนักงานในองค์กรนั้นๆ การส่งอาหารก็เป็นการไปส่งที่จุดเดียว ทำให้ร้านอาหารลดความยุ่งยากในการจัดส่ง ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง


3. เพิ่มบริการ Catering สำหรับจัดเลี้ยงงานอีเว้นท์

เทรนด์การตลาดในยุคใหม่คือ การสร้างแบรนด์ผ่าน Brand Experience ซึ่ง 1 ในกิจกรรมที่สามารถช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า คือ งานอีเว้นท์ต่างๆ เช่น การเปิดตัวสินค้าใหม่ การเปิดสาขาใหม่ งานเทศกาล หรืองานคอนเสิร์ต งานเลี้ยงขอบคุณลูกค้า ซึ่งงานเหล่านี้จะมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก เจ้าของแบรนด์อาจจะจัดเป็นงานเลี้ยงค็อกเทล หรือเป็น Snack Box ซึ่งร้านอาหารสามารถเข้าไปช่วยในการจัดการอาหารทานเล่น หรือขนมในงานเหล่านี้ได้


4. ออกงานเทศกาลอาหาร Food Festival

มีหนึ่งช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับร้านอาหารคือ การออกงานเทศกาลอาหาร Food Festival ต่างๆ เช่น งานเทศกาลอาหารใหญ่ๆ อย่าง Wongnai Bangkok Food Festival มีร้านอาหารมาออกงานมากกว่า 100 ร้านจากทั่วประเทศไทย หรืองานที่มีพนักงานออฟฟิศ คนกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มวัยรุ่นให้ความสนใจ อย่างเช่น งาน TGIF Market และ งาน FITFEST เป็นต้น


5. ทำ Package ขายสมาชิกรายเดือน (subscription)

อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ลูกค้าซื้อกับเราอย่างต่อเนื่อง คือ การทำโปรโมชั่นแบบ ขาย Package หรือ สมาชิกรายเดือน เช่น ร้านนวดจะมี Package จ่าย 4,500 บาท ได้นวด 10 ครั้ง หรือถ้าเป็นร้านอาหาร อาจจะขายเป็นเมนูรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท จะส่งให้ 30 กล่องต่อเดือน ทำให้ร้านอาหารสามารถได้รายได้เป็นก้อน และลูกค้าสามารถใช้บริการของเราได้ยาวนานขึ้น


6. สร้างธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์

ร้านอาหารที่เริ่มสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และมีการจัดการระบบภายในที่ลงตัวแล้ว อาจจะเริ่มขยายธุรกิจโดยใช้โมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ได้ ตัวอย่างแฟรนไชส์ร้านอาหาร เช่น ร้านราเมงอะ ที่มีหลายสาขาทั่วกรุงเทพ หรือร้านเขียง เฟรนไชส์อาหารตามสั่งในเครือ ZEN มี 26 สาขา ซึ่งข้อดีของโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ คือ ร้านอาหารสามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่ม จะได้รายได้จาก Loyalty Fee ปัจจุบันสามารถหาผู้สนใจร่วมลงทุนได้ตามงาน Trade Fair ที่รวมแฟรนไชส์ต่างๆ


7. รับจ้างผลิตอาหาร (OEM)

ร้านอาหารที่มีครัวหรือโรงงานทำอาหารขนาดใหญ่และมีกำลังการผลิตเหลือ สามารถใช้โอกาสนี้ รับจ้างผลิตอาหารให้กับลูกค้า หรือส่งตามร้านอาหารอื่นๆ อีกทีได้ ซึ่งถ้าเรายิ่งผลิตหรือทำอาหารในปริมาณที่มากขึ้น นอกจากจะได้รายได้ที่มากขึ้นแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลงไปได้อีก ยิ่งถ้าร้านอาหารไหนมีการลงทุนเพิ่ม การได้ออเดอร์ในปริมาณมาก จะยิ่งทำให้การลงทุนนั้นคุ้มทุนได้เร็วขึ้น



 

สนใจเลือกซื้อกล่องอาหารคูลๆ พร้อมโลโก้ คลิกเลย

bottom of page